งานระบบไฟฟ้าทั่วไป (Electrical systems)



                               ความรู้เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและขั้นตอนการวางระบบในอาคาร

      งานด้านสาธารณูปโภคนับเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก พื้นฐาน ที่จำเป็นสำหรับอาคารบ้านเรือนทั่วไป ที่สำคัญได้แก่ ระบบไฟฟ้า และระบบน้ำประปา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับการดำเนินชีวิต ในยุคปัจจุบัน การวางระบบไฟฟ้าและระบบน้ำประปาที่ดี รวมทั้งการเดินสายไฟ และเดินท่อน้ำ อย่างประณีตถูกหลัก จะให้ความปลอดภัย และความสะดวกสบาย แก่ผู้อยู่อาศัยไปได้นาน
ในสมัยก่อน การเดินสายไฟมักจะใช้วิธีเดินสาย ลอยตามผนังอาคาร ขณะที่การเดินท่อน้ำจะเดินท่อลอยตามขอบพื้นและขอบผนัง
เมื่อใช้งานไป หากเกิดการชำรุดเสียหายขึ้นการตรวจสอบและการซ่อมแซมก็สามารถ ทำได้ไม่ยาก แต่ในปัจจุบันบ้านเรือนสมัยใหม่ มีความพิถีพิถัน ในด้านความสวยงามมากขึ้น การเดินสายไฟมักจะใช้วิธีเดินสายร้อยท่อ ซึ่งฝังอยู่ภายในผนัง หรือเหนือเพดานขณะที่การเดินท่อน้ำ จะใช้วิธีเดินท่อฝัง อยู่ภายในผนัง หรือใต้พื้น เพื่อซ่อนความรกรุงรัง ของสายไฟ และท่อน้ำเอาไว้ การเดินสายไฟและท่อน้ำแบบฝังนี้แม้จะเพิ่มความสวยงาม และความเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้แก่ตัวบ้าน แต่ก็มีข้อเสียแฝงอยู่ เพราะถ้าเกิดปัญหาไฟช็อต ไฟรั่ว หรือท่อน้ำรั่ว ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก การใช้วัสดุที่ด้อยคุณภาพ การติดตั้งอย่างผิดวิธี หรือการชำรุดเสียหาย อันเนื่องมาจากการใช้งานก็ตาม การตรวจสอบ หรือการซ่อมแซมย่อมทำได้ลำบาก อาจถึงขั้นต้องทำ การรื้อฝ้าเพดานรื้อกำแพง หรือพื้นที่บางส่วน เพื่อทำการตรวจสอบและ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิด ความเสียหายต่อตัวบ้าน เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายสูง
ในการวางระบบไฟฟ้า วิธีหลีกเลี่ยงปัญหาข้างต้นอย่างง่ายๆวิธีหนึ่งก็คือการเลือกเดินสายไฟแบบลอย ซึ่งอาจจะดูไม่เรียบร้อยนัก และเหมาะสำหรับ อาคารบ้านเรือนขนาดเล็กเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่ต้องการความประณีตสวยงามหรือบ้านขนาดใหญ่ที่มีการเดินสายไฟ เป็นจำนวนมาก การเดินสายไฟแบบฝัง ดูจะมีความเหมาะสมกว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวอาจจะป้องกันหรือทำให้ ลดน้อยลงได้โดยการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ ใช้วัสดุที่ถูกต้อง และมีขนาดที่เหมาะสม รวมทั้งมีการติดตั้งอย่างถูกวิธีและมีระบบ แบบแผน

การวางระบบไฟฟ้า

การวางระบบไฟฟ้าในอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเดินสายไฟไม่ว่าจะเป็นการเดินสายไฟแบบลอยหรือแบบฝัง
การวางตำแหน่งของ ดวงโคม สวิตซ์ไฟ ปลั๊กไฟ ตลอดจนการเดินสายไฟเตรียมไว้สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า ต่างๆ เช่น เครื่องปรับ
อากาศ เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องดูดควัน รวมถึงการติดตั้ง อุปกรณ์ควบคุมต่างๆ เช่น ตู้เบรกเกอร์ (circuit breaker) หรือเครื่องตัดไฟ
อัตโนมัติเมื่อเกิดไฟฟ้ารั่วหรือไฟฟ้าลัดวงจรขึ้น อุปกรณ์ไฟฟ้าจำพวกดวงโคม สวิตซ์ไฟ และปลั๊กไฟถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่จะต้องมีอยู่ทุกบ้าน การวางตำแหน่งของอุปกรณ์ เหล่านี้มักจะถูกระบุไว้ใน แบบแปลนของบ้าน ตั้งแต่เริ่มแรก ปัญหาอย่างหนึ่ง ที่มักจะเกิดขึ้นภายหลัง และพบเห็นได้บ่อย ก็คือตำแหน่ง ของอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ไม่สอดคล้องกับ การใช้งานจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางตำแหน่งของปลั๊กไฟ เช่น ปลั๊กบางตัวอาจจะอยู่ในตำแหน่ง ที่ไม่ได้ใช้งานเลย ในขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าบางเครื่องอาจวางตำแหน่งที่ไม่มีปลั๊กให้เสียบ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวก หากจะลงทุนย้าย หรือเพิ่มตำแหน่ง ปลั๊กไฟก็เกิดความยุ่งยาก ถึงแม้ปัญหาในลักษณะนี้บางคน อาจมองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ก็จริงอยู่ แต่หากจะมองอีกแง่หนึ่ง การวางตำแหน่งของ อุปกรณ์ดังกล่าว มักเป็นตำแหน่งที่ถาวร ไม่ค่อย มีการเปลี่ยนแปลง การวางตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับ การใช้งานในบ้านแต่ละหลัง ตั้งแต่แรกจะช่วยให้เกิด ความสะดวกสะบาย ตลอดอายุการใช้งานของบ้าน โดยไม่ต้องมาคอยเปลี่ยนแปลง แก้ไขให้ยุ่งยาก และเสียความสวยงาม ในภายหลัง ดังนั้นหากเป็นไปได้ก่อนขั้นตอนของการเดินสายไฟเจ้าของบ้านควรจะมีการทดลอง หาตำแหน่งใน การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งตำแหน่ง ของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ อย่างคร่าวๆ เพื่อจะได้ระบุตำแหน่งในการติด ตั้งปลั๊กไฟ หรืออุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างเหมาะสม เพราะการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในขั้นตอนนี้ยังสามารถทำได้โดยง่าย ถือว่ายอมเสียเวลา ในตอนต้นสักเล็กน้อย จะช่วยให้ท่านได้รับประโยชน์ ใช้สอยอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ หากคิดว่าจะมีการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติม เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำร้อน หรือเครื่องดูดควัน ก็ควรจะ ระบุตำแหน่งที่แน่นอน และให้ช่างไฟฟ้าเดินสายเผื่อไว้เลย เพราะจะมีความเรียบง่ายกว่าที่จะใช้ให้ช่างติดตั้งอุปกรณ์มาเดินสายไฟให้ ในภายหลัง โดยเฉพาะบ้านที่เดินสายไฟแบบฝังจำเป็นจะต้องเดินสายไว้ล่วงหน้าเลย






ข้อสังเกตเกี่ยวกับประโยชน์การใช้งานและความปลอดภัย

1. สายไฟที่ใช้ควรมีการประทับข้อความบนตัวฉนวนของสายไฟเป็นระยะๆ โดยบ่งบอกถึงยี่ห้อของสายไฟหรือบริษัทผู้ผลิตชนิดของ สายไฟ แรงดันไฟฟ้า และอุณหภูมิการใช้งานที่สายไฟนั้นสามารถทนได้ ขนาดพื้นที่หน้าตัดของลวดตัวนำไฟฟ้าและควรมี เครื่องหมายรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ด้วย
2. สายไฟควรอยู่ในสภาพใหม่ ฉนวนไม่มีรอยแตกหรือปริหรือมีความแข็งผิดปกติ ไม่มีสีที่หม่นหมองผิดเพี้ยนไปมากอันเนื่องมาจาก พลาสติก ที่ใช้ทำฉนวนหมดอายุหรือถูกเก็บรักษาในสภาพที่ไม่เหมาะสม
3. การเดินสายไฟแบบฝังภายในผนัง ฝังใต้พื้น หรือเดินเหนือเพดาน จะต้องเป็นการเดินสายไฟแบบร้อยท่อ ในกรณีที่ใช้ท่อโลหะ จะต้องมีการลบคมตรงขอบด้านในของท่อตรงบริเวณรอยตัดทุกแห่งเพื่อป้องกันมิให้ขอบท่อบาดสายไฟ ขณะทำการดึงร้อยสาย อันอาจเป็นสาเหตุทำให้สายไฟชำรุดและเกิดไฟรั่วได้ ส่วนกรณีที่ใช้ท่อพีวีซี ท่อที่ใช้จะต้องเป็นท่อสีเหลืองซึ่งผลิตสำหรับงานร้อยสาย ไฟโดยเฉพาะ เนื่องจากมีความแข็งแรงและทนต่ออุณหภูมิสูง และขนาดของท่อร้อยสายที่ใช้ควรใหญ่พอสำหรับจำนวนสายไฟที่ร้อย ในแต่ละท่อ ไม่ควรรอยสายไฟจนคับท่อเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้ดึงสายไฟลำบากขณะร้อยสายแล้วยังทำให้เกิดความร้อนสะสม มากขึ้นในขณะใช้งานด้วย
4. ปัจจุบันการไฟฟ้านครหลวงได้ออกข้อกำหนดให้ผู้ที่ยื่นขอใช้ไฟฟ้าใหม่จะต้องเดินสายไฟให้มีระบบสายดิน รวมทั้งกำหนด ให้ใช้ ปลั๊กไฟแบบ 3 ช่องเสียบซึ่งมีช่องสำหรับต่อขั้วสายดิน เพิ่มขึ้นมาแทนการใช้ปลั๊กไฟแบบ 2 ช่องเสียบแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ เพื่อ เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ดังนั้นการเลือกซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าจึงควรเลือกซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มี มาตรฐานความปลอดภัยสูง เช่น มีปลั๊กเสียบแบบ 3 ขา เพื่อให้สามารถใช้กับระบบสายดินได้ รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่างที่ต้องทำ การติดตั้งและต่อสายไฟไว้อย่างถาวร เช่นเครื่องทำน้ำร้อน เครื่องดูดควัน เครื่องปรับอากาศ ก็ควรจะเลือกรุ่นที่ออกแบบไว้ให้มีขั้วสำ หรับต่อเข้ากับสายดินได้ ทั้งนี้ตำแหน่งที่จะทำการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวจะต้องมีการเดินสายดินเตรียมไว้ตั้งแต่แรกเพื่อความ สะดวกในการติดตั้งในภายหลัง
5. เกี่ยวกับระบบสายดิน ส่วนประกอบที่สำคัญที่จะทำให้ระบบนี้ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างได้ผลก็คือหลักดิน (ground rod) ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งโลหะฝังอยู่ในดินเพื่อทำหน้าที่นำกระแสไฟไหลลงสู่ดินได้โดยสะดวกเมื่อเกิดการรั่วของกระแสไฟฟ้าขึ้น ตามข้อแนะนำของการไฟฟ้าฯ หลักดินนี้ควรทำจากแท่งทองแดงที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 16 มิลลิเมตร ยาวไม่น้อย กว่า 2.4 เมตร และฝังจมลงไปในดินไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร โดยที่หลักดินดังกล่าว จะเชื่อมต่อกับขั้วต่อสายดิน ของตู้ควบคุม ระบบไฟฟ้า เพื่อให้ระบบไฟฟ้าทั้งหมดมีการต่อลงดิน
6. การใช้สายไฟร่วมกันระหว่างสวิตซ์ไฟกับปลั๊กไฟอาจก่อให้เกิดการรบกวนต่อการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กับปลั๊กไฟนั้นๆ เมื่อเปิด หรือปิดสวิตซ์ไฟดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวิตซ์เปิด/ปิด หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ที่ต่อสายไฟร่วมกับปลั๊กที่ใช้สำหรับเครื่องรับ โทรทัศน์ หรือเครื่องเสียง เมื่อเปิดหรือปิดไฟขณะที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวอยู่จะก่อให้เกิดการรบกวนอย่างมากต่อทั้งระบบภาพและระบบ เสียง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวเจ้าของบ้านควรจะกำหนดจุดที่จะวางอุปกรณ์เครื่องใช้ดังกล่าวไว้ล่วงหน้าและระบุกับผู้รับเหมาหรือ ช่างไฟฟ้าเอาไว้ว่าอย่าใช้สายไฟร่วมกันในจุดเหล่านี้
7. การเดินสายไฟโดยเฉพาะสายแบบฝัง ในปัจจุบันมักจะทำการเดินสายอากาศโทรทัศน์ (จากตำแหน่งที่จะติดตั้งเสาอากาศ ภายนอกบ้าน) และสายโทรศัพท์ควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ เจ้าของบ้านควรพิจารณาและระบุตำแหน่งที่จะวางอุปกรณ์ดังกล่าวเอาไว้ล่วง หน้า ซึ่งการเดินสายโดยการร้อยท่อสำหรับสายประเภทนี้ก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการเดินสายไฟ แต่มีข้อควรระวังเป็นพิเศษ สำหรับการเดินสายอากาศโทรทัศน์ก็คือ สายอากาศที่เดินแต่ละเส้นจะต้องไม่มีการตัดต่ออยู่ภายในท่ออย่างเด็ดขาด การตัดต่อสาย จะทำภายนอกโดยช่างติดตั้งเสาอากาศ หรือช่างติดตั้งอุปกรณ์โทรทัศน์ โดยใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อ ที่เหมาะสมเท่านั้น มิฉะนั้น จะก่อให้เกิดปัญหาในการรับสัญญาณ ซึ่งจะแก้ไขในภายหลังได้ยาก
8. ในด้านของความปลอดภัย เจ้าของบ้านบางรายอาจจะต้องการติดตั้งระบบสัญญาณกันขโมยไว้ในขั้นตอนของการปลูกบ้านเลย ถ้าเป็นสัญญาณกันขโมยระบบที่ตองเดินสายสัญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการเดินสายแบบฝัง เช่นเดียวกับการเดินสายไฟ ก็จะต้องทำการเดินสายในขั้นตอนที่ต่อเนื่อง หรือทำไปพร้อมกับการเดินสายไฟในบ้าน ซึ่งมีข้อที่ควรระวังเนื่องจาก การเดินสาย สัญญาณกันขโมยและการเดินสายไฟอื่นๆ ภายในบ้านมักจะเป็นช่างคนละชุดกันแต่จะมีการใช้สายไฟร่วมกัน ใช้จุดต่อสายไฟร่วมกัน หรือใช้ท่อร้อยสายไฟร่วมกันในบางจุด ถ้าหากต่างฝ่ายต่างทำโดยไม่ประสานงานกันแล้ว หากเกิดปัญหาการเดินสายไฟขึ้นในภายหลังจะเกิดการขัดแย้งขึ้นและหาผู้รับผิดชอบไม่ได้







วิธีการเดินสายไฟฟ้า

ประเภทแรกคือ การเดินสายไฟบนผนังหรือที่เรียกว่า เดินลอย วิธีนี้ค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่จะมองเห็นสายไฟบนผนัง ไม่ค่อยเรียบร้อย การตกแต่งห้องลำบากกว่า แต่สามารถตรวจ สอบความเสียหายได้ง่าย รวมทั้งการเปลี่ยนสายไฟก็ง่าย เพราะมองเห็น
ประเภทที่สองคือ การเดินผ่านท่อซึ่งฝังในผนังอาคารหรือที่เรียกว่า เดินร้อยสายผ่านท่อ วิธีนี้จะได้งานที่เรียบร้อย เพราะมองไม่เห็น จากภายนอก ท่อสายไฟจะฝังอยู่ในผนัง ต้อง ทำพร้อมการก่อสร้างอาคาร การตกแต่งห้องจะง่ายกว่าและมีท่อป้องกันสายไฟไว้ ค่าใช้จ่ายสูงกว่า แบบแรก การติดตั้งก็ยุ่งยากกว่ารวมถึงการตรวจสอบและการเปลี่ยนภายหลังก็ทำได้ ลำบากกว่าแบบแรก

- ระบบไฟฟ้าภายในบ้าน
ระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ควรแยกวงจรเป็นส่วนๆ ไว้ เช่น แยกตามชั้นต่างๆ หากเกิดไฟฟ้าขัดข้องขึ้นที่ชั้นไหน ก็ สามารถสับคัตเอาท์ ปิดไฟเฉพาะส่วนชั้นนั้น เพื่อซ่อมแซมได้ และที่สำคัญส่วน ห้องครัว ควรแยกวงจรไว้ต่างหาก ด้วย เวลาไม่อยู่บ้านนานๆ จะได้ปิดไฟทั้งหมด เหลือเฉพาะ ส่วนครัวไว้ตู้เย็นในครัวจะใช้งานได้ อาหารต่างๆ จะได้ไม่เสีย

- ปัญหาของสายไฟฟ้า
ตามปกติทั่วไปสายไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานประมาณ 7-8 ปี แต่เมื่อมีการตรวจเช็ค และพบว่าฉนวนที่หุ้มสายไฟ เริ่มเปลี่ยนสี เป็นสีเหลืองและเริ่มกรอบแตก ก็สมควรที่จะ เปลี่ยนสายไฟใหม่ โดยไม่ต้องรอให้หมดอายุก่อน เพราะ อาจลัดวงจร และทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
สายไฟฟ้าควรเดินอยู่ในท่อร้อยสายไฟ เพื่อป้องกัน ฉนวนที่หุ้มสายไฟไม่ให้ขีดข่วนชำรุด โดยเฉพาะสายไฟที่เดิน อยู่ภายนอกบ้าน เช่น ไฟรั้ว สนาม หรือกระดิ่งที่ติดอยู่หน้า บ้าน ส่วนใหญ่จะไม่มีท่อหุ้ม เมื่อโดนแดดโดนฝนนานๆ ก็จะ รั่วได้ เป็นอันตรายมาก ควรหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ หรือถ้า เปลี่ยนเป็นแบบเดินท่อก็จะปลอดภัยกว่า ที่สำคัญเวลามีปัญหา อย่าซ่อมไฟฟ้าเอง ควรตามผู้รู้หรือช่างมาซ่อมจะดีกว่า

- ชนิดของหลอดไฟ
หลอดไฟที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมี 2 ประเภท คือ
หลอดอินแคนเดสเซนต์ หรือหลอดแบบมีไส้ ทำงาน โดยการปล่อยกระแสไฟเข้าสู่ขดลวด เพื่อให้เกิดความร้อน แล้วเปล่งแสงออกมา หลอดชนิดนี้จะกินไฟมาก มีอายุการ ใช้งานประมาณ 750 ชม.
หลอดอีกประเภท คือ หลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือ หลอดนีออน เป็นหลอดที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เพราะมี ประสิทธิภาพสูง มีราคาสูง (การทำงานซับซ้อนกว่าจะได้แสง มา) มีอายุการใช้งานประมาณ 8,000ชม.

- ชนิดของโคมไฟ
ชนิดของโคมไฟแบ่งตามชนิดของการใช้งานได้ ดังนี้
โคมส่องห้องโดยทั่วไป จะเป็นโคมที่ติดบนฝ้าเพดาน หรือผนังก็ได้ ความสว่างจะปานกลาง เพื่อให้เห็นห้องโดยทั่ว ไปรวมถึงทางเดินและบันไดด้วย
โคมส่องเฉพาะจุด จะมีความสว่างมากกว่า จะใช้ส่อง เฉพาะจุดที่จะเน้นความสำคัญ เช่น รูปภาพ ต้นไม้ หรือจุดที่ ต้องทำงานเป็นพิเศษ เช่น มุมอ่านหนังสือ ส่วนทำงาน หรือ เตรียมอาหาร
โคมสำหรับตั้งพื้น จะมีความสว่างน้อยที่สุด จะใช้เพื่อ นั่งพักผ่อน ดูทีวี ฟังเพลง ห้องนอน เพื่อบรรยากาศที่ดี ไม่ ต้องการแสงสว่างมารบกวนมากจนเกินไป

- ระบบไฟฟ้าในห้องน้ำ
สำหรับห้องน้ำขนาดกลางโดยทั่วๆไป จะมีขนาด ประมาณ 4-6 ตารางเมตร ควรจะมีไฟส่องสว่างประมาณ 2 จุด จุดแรกที่หน้ากระจกติดกับอ่างล้างหน้า ส่วนที่สอง ควรอยู่กลางห้องบริเวณส่วนที่อาบน้ำ แต่ต้องระวังไม่ให้ต่ำ ลงมาจนถูกน้ำกระเด็นโดนได้ ส่วนปลั๊กควรอยู่ในระดับที่ สูงพอจะใช้งานได้สะดวก เช่น ใช้สำหรับที่เป่าผม หรือที่ โกนหนวด และควรจะใช้ชนิดมีฝาปิด เพื่อไม่ให้โดนน้ำ และที่สำคัญสวิทซ์ปิด-เปิดควรอยู่นอกห้อง และระบบวงจร ไฟฟ้าของห้องน้ำควรมีเบคเกอร์ตัด เมื่อเกิดไฟฟ้าช็อตด้วย

- หลอดไฟฟ้า "ฮาโลเจน"
หลอดไฟแบบ "ฮาโลเจน" จะให้แสงสีขาวนวล มี ความสว่างมากกว่าหลอดแบบอินแคนเดสเซนต์ในกำลังวัตต์ ที่เท่ากัน จึงทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้ามากกว่า แต่หลอดฮาโล- เจนจะมีราคาสูงกว่า ประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสมกับหลอด ประภทนี้ได้แก่ ใช้ไฟส่องที่โต๊ะทำงาน ปฏิมากรรม และภาพ เขียนประดับผนังต่างๆ ทำให้งานดูโดดเด่นขึ้น

- ประโยชน์และชนิดของ "ฟิวส์"
"ฟิวส์"เป็นเครื่องป้องกันกำลังของกระแสไฟฟ้าที่เกินขนาดหรือเกิดการลัดวงจร แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
แบบที่ 1 ฟิวส์เส้น จะมีลักษณะเป็นเส้นเปลือยใช้ต่อ เชื่อมในวงจร เมื่อเกิดการลัดวงจร ฟิวส์เส้นนี้จะขาด
แบบที่ 2 ฟิวส์หลอด จะมีลักษณะเป็นหลอดกระเบื้อง เมื่อเกิดการช็อตจะทำให้เกิดประกายไฟ ภายในบรรจุสารเคมี เพื่อป้องกันการสปาร์ค จะดีกว่าแบบแรก
แบบที่ 3 ปลั๊กฟิวส์ จะมีลักษณะคล้ายหลอดเกลียว ใช้โดยวิธีหมุนเกลียวเข้าไป มีลักษณะการทำงานเหมือนแบบที่ 2 แต่จะไม่เกิดประกายไฟ

- วิธีการประหยัดไฟฟ้า ข้อควรปฏิบัติเพื่อการประหยัดไฟฟ้ามี ดังนี้
1. ปิดสวิทซ์เมื่อไม่ใช้งาน หรือเมื่อออกจากห้องถึงแม้ ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม
2. ใช้หลอดไฟฟ้าวัตต์ต่ำ ควรตรวจดูความเหมาะสม ของห้อง เช่น ห้องกว้างควรใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ หรือห้องเล็กก็ใช้ 18 วัตต์ ควรใช้แสงสว่างเท่าที่จำเป็น
3. หมั่นทำความสะอาดหลอดไฟและโคมไฟอยู่ เสมอ เพราะละอองฝุ่นที่เกาะอยู่จะทำให้แสงสว่างลดน้อยลง และอาจเป็นสาเหตุให้ท่านต้องเปิดไฟหลายดวงเพื่อให้แสง สว่างพอเพียง สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่มีขายในท้อง ตลาด ปัจจุบันมีชนิดที่มีประสิทธิภาพสูง คือ ขนาด 18 วัตต์ และ 36 วัตต์ ซึ่งให้แสงสว่างเท่ากับหลอดอินแคนเดสเซนต์ ขนาด 20 วัตต์ และ 40 วัตต์ แต่กินไฟน้อยกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น