ระบบไฟฟ้าพื้นฐานในรถยนต์ รู้ “อะไร” ทำหน้าที่ “อะไร” มีผล “อะไร”
กลับมาอีกครั้งกับคอลัมน์ Short Stroke ที่นำเสนอเกี่ยวกับข้อมูลรถยนต์ “อย่างกระชับ” ในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฮเทคต่างๆ ในรถรุ่นใหม่ ที่เคยนำเสนอไปแล้วนั้น จริงๆ แล้วคอลัมน์นี้ไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นข้อมูลจากรถใหม่เท่านั้น “สิ่งใดๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ ที่มีสาระน่าสนใจแบบกระชับ” ก็ถือเป็น Concept คอลัมน์ดั้งเดิมมาอยู่แล้ว ตอนนี้เรามาเปลี่ยนบรรยากาศชมเรื่องราวเกี่ยวกับ “ระบบไฟฟ้าพื้นฐานของรถยนต์” เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่เหมือนไกลตัว ด้วยความเข้าใจกันผิดอยู่หลายอย่าง ตอนนี้เราจะมาเล่ากันแบบกระชับ จับใจความว่า แต่ละอย่างมันมีหน้าที่อะไร และส่งผลอะไรกับเรากันแน่…
ไดชาร์จ
ภาษาฝรั่งเรียกกันว่า Alternator หน้าที่ของมัน คือ “เป็นตัวผลิตไฟฟ้า” โดยอาศัยกำลังเครื่องยนต์ ส่งกำลังจาก Pulley ข้อเหวี่ยง ผ่านสายพาน มาขับเคลื่อนให้ไดชาร์จหมุน เพื่อปั่นกระแสไฟออกมาใช้ในรถยนต์ หากไดชาร์จเสีย ไฟไม่ชาร์จ รถก็จะไม่มีไฟใช้ ก็ต้องหยุดวิ่ง หรือ “เดี้ยง” นั่นเอง ส่วนใหญ่คนที่ใช้รถที่เริ่มมีอายุหน่อย ก็จะต้องเคยเจอปัญหานี้ ซึ่งตัวไดชาร์จเอง มันก็มีอายุการใช้งานของมันนะครับ ไม่ใช่อันเดียวจะเหนี่ยวตลอดชีวิต ด้านในมันจะมี “ทุ่น” และ “แปลงถ่าน” ถ้าสองอย่างนี้สึกมากเกินไป ก็ทำให้ไดชาร์จเสื่อมสภาพได้ครับ…
ไดชาร์จ หรือ Alternator เป็นอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า มีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น ทุ่นแม่เหล็ก ขดลวดที่ทำหน้าที่ตัดสนามแม่เหล็ก เพื่อให้เกิดประจุไฟฟ้า ใบพัดระบายความร้อน (ไดชาร์จรุ่นเก่าจะเป็นใบพัดอยู่ด้านนอก ส่วนรุ่นใหม่ใบพัดจะอยู่ด้านใน)
ข้อควรระวังเกี่ยวกับไดชาร์จ
ปกติแล้วเมื่อไดชาร์จเสีย มันจะน่ากลัวอย่าง คือ “ไปแล้วไปเลย” เราดูด้วยตาเปล่าไม่ออกแน่นอน แต่มันก็จะมีสัญญาณที่ส่งออกมาว่าไดชาร์จกูจะไปบ้านแล้ว ก็คือ “ไฟในรถเริ่มอ่อนลง” เช่น ไฟหน้าเริ่มหรี่ แอร์เริ่มเย็นน้อยลง (ในสภาวะปกติ) พูดง่ายๆ คือ “ไฟเหี่ยวทั้งคัน” นั่นแหละ บางทีจะมีอาการ “ความร้อนขึ้น” เพราะพัดลมไฟฟ้าหมุนไม่แรงพอ เครื่องเริ่มเร่งแย่ลง สังเกตง่ายๆ ครับ ถ้ารอบเดินเบามีอาการไฟเหี่ยว ต้องเร่งเครื่อง ไฟถึงจะชาร์จมากขึ้น มีอาการวูบๆ วาบๆ ก็ควรจะตรวจเช็กไดชาร์จ และระบบไฟโดยรวมได้แล้ว ถ้าไดชาร์จไม่พอ หรือเสีย ไม่ชาร์จเลย จะมีไฟรูปแบตเตอรี่ขึ้นที่หน้าปัด ถ้าเจอมันโชว์ก็แสดงว่าไปบ้านแล้วครับ ควรจะรีบนำรถเข้าเช็ก พยายามปิดอุปกรณ์กินไฟต่างๆ เช่น แอร์ เพื่อเซฟไฟให้พอใช้ในการขับไปซ่อม แต่ถ้าไดชาร์จเสียจริงๆ รถจะวิ่งได้อีกสักพัก จนไฟหมดแล้ว รถจะหยุด อันนี้ควรจะต้องระวังให้มาก ส่วนการเช็ดไดชาร์จนั้น ทางร้านไฟจะต่อ “แอมป์มิเตอร์” ถ้าเข็มชี้มาทางด้าน “ลบ” แสดงว่าไฟชาร์จไม่พอ ต้องเปลี่ยนใหม่ แต่ถ้ามันชี้ไปทาง “บวก” แสดงว่ายังมีสุขภาพดี ยังไงพวกเราพอมีความรู้เรื่องรถ ก็ดูการตรวจเช็กของช่างด้วยนะครับ จะได้รู้ว่ามันปกติดีหรือไม่ ส่วนรถที่มีเกจ์วัด Voltage จะยิ่งชัดเจนครับ ปกติจะต้องอยู่ประมาณ 13-14V แต่ถ้าต่ำกว่านั้น แสดงว่าชาร์จไม่พอ ก็นับว่าโชคดีที่รู้ทันก่อน ก็เป็นข้อดีของเกจ์วัด Voltage ที่ติดตั้งเพิ่มครับ…
อีกประการ คือ “ไฟชาร์จเกินกำหนด” (Over Charge) อันนี้จะมีอาการ “ไฟแรงผิดปกติ” ไฟหน้าสว่างขึ้น ไฟหน้าปัดสว่างวาบหยั่งกะหน้าปัดเรืองแสง แอร์แรงขึ้น ฯลฯ เป็นอาการที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แหม เพลิดเพลินกันใหญ่ อะไรๆ ก็แหล่มไปหมด จริงๆ แล้ว “ส่งผลร้ายต่อระบบไฟ” นะครับพี่น้อง การชาร์จเกินกำหนด ไฟแรงจริง แต่เมื่อ Voltage มันเกิน ปกติ ไฟในรถจะ 12V ไดชาร์จก็ปั่นกระแส 13-14V จึงจะสามารถชาร์จไฟเข้าระบบได้ นั่นเป็นค่าปกติ แต่ถ้ามันล่อไป 16 V ขึ้นไป อันนี้จะทำให้ระบบไฟในรถมีปัญหาได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะพวกกล่อง ECU และอุปกรณ์ที่มีความละเอียดอ่อนต่างๆ จะ “เสียหาย” หรือ “วงจรไหม้” ได้ หากปล่อยให้มันชาร์จเกินนานๆ โดยไม่แก้ไข ต้องระวังนะครับ ส่วนที่ทำให้ชาร์จเกินนั้น จะมาจาก “ตัว Cutout ที่ไดชาร์จเสีย” หน้าที่ของ Cutout หรือ Voltage Regulator คือ “คอยตัดกระแสไฟส่วนเกิน” ไดชาร์จไม่ได้ชาร์จตลอดนะครับ เมื่อไฟเต็มตามที่กำหนดแล้ว Cutout จะตัดการชาร์จไฟ เพื่อไม่ให้ชาร์จเกินกว่ากำหนดนั่นเอง…
ภายในของแบตเตอรี่ จะมีน้ำกรด และ “แผ่นธาตุ” ต่างๆ (จะมีอะไรบ้างผมก็จำไม่ได้ อย่าว่ากัน ตอนเด็กเรียนวิทยาศาสตร์ตกแบบหมดตูด) ก็จะทำปฏิกิริยาให้ประจุไฟฟ้ากระโดดไปมา เพื่อทำให้มีการเก็บและถ่ายกระแสไฟ ถ้า
แผ่นธาตุเสื่อม ไฟจะอ่อนกำลังลง โดยเฉพาะตอนสตาร์ทเครื่องจะเห็นชัด
แบตเตอรี่
รู้ว่ามันหน้าตาเป็นอย่างไร แต่หน้าที่อันแท้จริงของมันละ รู้ชัดเจนหรือไม่ ??? หน้าที่ของแบตเตอรี่ คือ “ทำหน้าที่เก็บไฟสำรอง” เมื่อไดชาร์จปั่นกระแสไฟมา หากไฟเหลือใช้ ก็จะนำมา “เก็บ” ไว้ที่แบตเตอรี่ พูดง่ายๆ ก็เหมือนแท็งก์น้ำ หรือธนาคารก็ได้ เมื่อมีการใช้ไฟฟ้ามากกว่าที่ไดชาร์จปั่นได้ เช่น จังหวะแอร์ทำงาน เปิดไฟหน้า ฯลฯ ก็จะใช้ไฟจากแบตเตอรี่ไปด้วย หรือตอน “สตาร์ทเครื่อง” ที่ต้องใช้ไฟมาก เราต้องอาศัยแบตเตอรี่ในการป้อนไฟมาหมุนไดสตาร์ทก่อน เพราะตอนนั้นไดชาร์จยังหมุนไม่พอที่จะสร้างกระแสไฟได้ พอเครื่องติดแล้ว ก็กลับสู่วงจรเดิม แต่ถ้าแบตเตอรี่ไฟหมด เสื่อมสภาพ “เก็บไฟไม่อยู่” ก็จะสตาร์ทไม่ได้ ไม่มีกำลังไฟพอ ต้อง “พ่วงแบต” รถถึงจะสตาร์ทได้ อันนี้รถสามารถวิ่งได้ครับ เพราะไดชาร์จยังป้อนกระแสไฟได้อยู่ แต่เมื่อดับเครื่อง แล้วสตาร์ทใหม่ หรือจอดนานๆ จะสตาร์ทไม่ติดอีกครั้ง สำหรับตัวแบตเตอรี่ ก็มีอายุการใช้งานอยู่ประมาณ 2 ปี ไม่เกินนี้ บางคันอาจจะ “ใช้นานกว่านั้น” หรือ “เจ๊งเร็วกว่านั้น” ก็อยู่ที่การบำรุงรักษา บางคนปล่อยน้ำกลั่นแห้งบ่อยๆ ไม่เคยดูแล อายุมันก็สั้น บางคนดูแลดี น้ำกลั่นไม่เคยขาด ไม่ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้ามากเกินพิกัด (บางคนติดเครื่องเสียง ไฟแสงสี นึกว่าผับเคลื่อนที่) มันก็อยู่ได้นานครับ แต่ผมว่านะ “เปลี่ยนก่อนมันจะเสียดีกว่า” ได้อายุก็เปลี่ยนครับ เพราะถ้ามันเจ๊งมาแล้วจะสร้างความเดือดร้อนและอะไรอีกมากมาย ไม่คุ้มหรอก…
ข้อน่ารู้ เปลี่ยนแบต แอมป์เยอะ ไฟแรงขึ้นจริงหรือไม่ ???
อันนี้ผมยอมรับว่าเป็นความเข้าใจผิดในอดีตของตัวเองเหมือนกัน ว่า การใช้แบตเตอรี่แอมป์เยอะๆ ไฟจะได้แรงขึ้น ก็อาจจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ไม่เสมอไป จริงๆ แล้ว ถ้าแบตเตอรี่ที่มีแอมป์สูง การเก็บสำรองไฟก็เยอะกว่า ในกรณีที่ไฟในระบบเริ่มไม่พอใช้ อย่างเคสการติดอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มเติมเยอะๆ จะต้องการแบตเตอรี่ที่มีแอมป์สูงขึ้น เพื่อป้อนไฟให้พอใช้ แต่ไม่ใช่ทำให้ไฟแรงขึ้น ความเป็นจริงแล้ว ในรถที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าแบบ Over อะไรนัก ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่แอมป์สูงเกินไป ไฟไม่ได้แรงขึ้นครับ ผมเคยลองโดยการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่อตรงกับแบตที่มีแอมป์ต่างกัน ปรากฏว่าไม่เห็นข้อแตกต่าง ไฟสว่างเท่ากัน พัดลมแรงเท่ากัน ตรงนี้จึงเป็นข้อพิสูจน์เบื้องต้นได้ แต่แบตแอมป์เยอะ มีข้อเหนือกว่า คือ สำรองใช้ได้เยอะขึ้น อย่างกรณีไดชาร์จเสีย แบตแอมป์น้อย ไฟจะหมดเร็วกว่าแบตแอมป์เยอะ นั่นเอง ส่วนที่ว่า ไฟจะแรงหรือไม่นั้น ต้องดูที่ต้นกำเนิด คือ ไดชาร์จ ครับ “ถ้าไดชาร์จมีแอมป์เท่าเดิม มันก็จ่ายไฟได้เท่าเดิม” แต่ถ้าอยากจะให้ไฟแรง และมีกระแสที่มากขึ้น ก็ต้อง “เปลี่ยนไดชาร์จแอมป์สูงขึ้น” นั่นเอง เป็นการเพิ่มที่ต้นเหตุครับ ดูอย่างพวกรถเครื่องเสียง จะต้องเพิ่มไดชาร์จแอมป์สูงๆ หลายลูก เพื่อปั่นกระแสไฟให้พอ และใช้แบตเตอรี่แอมป์เยอะหลายลูกเช่นกัน เพื่อสำรองไฟไว้ใช้ครับ…
ง เป็นการเพิ่มที่ต้นเหตุครับ ดูอย่างพวกรถเครื่องเสียง จะต้องเพิ่มไดชาร์จแอมป์สูงๆ หลายลูก เพื่อปั่นกระแสไฟให้พอ และใช้แบตเตอรี่แอมป์เยอะหลายลูกเช่นกัน เพื่อสำรองไฟไว้ใช้ครับ…
หน้า ตาของ Volt meter ปกติในรอบเดินเบา และการขับขี่ทั่วไป เข็มจะต้องชี้อยู่ที่ 12-13V ถ้าร่วงลงเหลือ 11-10V ไฟเริ่มชาร์จตกแล้ว แต่ก็ยังพอได้ ถ้าเร่งเครื่องแล้ว Volt ขึ้น แสดงว่าไดชาร์จเริ่มเสื่อม ถ้าต่ำกว่า 10V นั่นคือ ไฟชาร์จไม่พอ ควรรีบตรวจหรือซ่อม แต่ถ้าฟาดเกินกว่า 14V ก็แสดงว่า ไฟชาร์จเกิน มีปัญหาแน่นอนในอีกไม่นาน เช่น น้ำกลั่นเดือด อุปกรณ์ไฟฟ้าร้อนจัด ช็อต ไหม้ แล้วแต่ดวง
Voltage
เรียกสั้นๆ ว่า “โวลต์” เอากระชับแล้วกัน เนื้อที่จะหมด โวลต์ คือ “ค่าความต่างศักย์” ของไฟฟ้า ในรถยนต์นั่งทั่วไป ก็จะอยู่ที่ 12V นั่นหมายความว่า อุปกรณ์ไฟฟ้าในรถทั้งคัน จะต้องใช้ค่าความต่างศักย์ เท่ากับ 12V เช่นกัน อย่างไฟฟ้าบ้านเรา ก็อยู่ที่ 220V ส่วนในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จะใช้ไฟ 110V ไม่เท่ากัน ถ้าเราเอาอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีโวลต์น้อยกว่า ไปใช้กับกระแสไฟโวลต์สูงกว่า ใช้ได้ครับ แต่พังเร็ว ลองเอาหลอดไฟ 5V ไปต่อกับไฟ 12V ดู สว่างมากขึ้น แต่อายุสั้นลง ตรงกันข้าม เอาหลอดไฟ 24V (ใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่) มาต่อไฟ 12V อันนี้ได้ครับ แต่ความสว่างจะน้อยลง
รีเลย์
รีเลย์ (Relay) นี่ก็มีคนเข้าใจผิดอีกเยอะ ว่า “ใส่รีเลย์แล้วไฟแรง” อย่างเช่น ไฟหน้า พอใส่รีเลย์แล้วไฟสว่างขึ้น หรือใส่รีเลย์ในส่วนอื่นๆ แล้วรู้สึกไฟมาดีขึ้น ถูกต้องครับ ไฟมาดีขึ้นจริง ไม่เถียง แต่ “รีเลย์ไม่ได้มีหน้าที่เพิ่มกระแสไฟ” แต่เป็น “การเพิ่มพื้นที่สะพานไฟ” ให้กระแสไฟเดินได้สะดวกขึ้น และผ่านได้จำนวนมากขึ้น ถ้าเพิ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่ไม่มีรีเลย์ไปต่อพ่วง มั่วมาจากไหนไม่รู้ กระแสไฟในจุดที่ไปเพิ่ม จะเกิดการ Over load เพราะพื้นที่สายไฟมันเล็กเท่าเดิม แต่เราไปดึงไฟมามากขึ้น จะทำให้สายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้านั้น “ร้อนจัด ช็อต ละลาย” ได้ครับ แต่การติดตั้งรีเลย์นั้น จะให้ดีต้อง “ใช้รีเลย์จำนวนเพียงพอกับอุปกรณ์ไฟฟ้า” ด้วย ไม่ใช่รีเลย์ตัวเดียว แต่พ่วงอุปกรณ์หลายอย่าง เกิดการ Over load รีเลย์จะเกิดการไหม้ ละลาย ช็อต ได้เช่นเดียวกัน และอุปกรณ์ทั้งหลายที่ใช้รีเลย์ตัวนั้นจะช็อตหรือใช้การไม่ได้ตามไปด้วย ควรจะแยกรีเลย์ที่ต่อสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นอย่างๆ ไป เพื่อลด Over load แยกกันทำงานน่ะพูดง่ายๆ เวลารีเลย์เสีย มันจะไม่เสียทั้งหมดเหมือนต่อร่วมกันเยอะๆ อีกประการ “ควรใช้รีเลย์ที่มีคุณภาพดี” ถ้าใช้รีเลย์คุณภาพห่วยแตก ความทนทานต่ำ ก็จะเสียหายในเวลาอันสั้น ใช้รีเลย์คุณภาพดี ชัวร์กว่าเยอะครับ…
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น